Last updated: 5 ก.ย. 2563 | 1520 จำนวนผู้เข้าชม |
กระเทียม...สมุนไพรที่ให้ประโยชน์ทางยา
กระเทียมเป็นพืชสมุนไพรเก่าแก่ซึ่งมีฤทธิ์ทางยาหลายอย่าง แม้กระทั่งบิดาทางการแพทย์ของกรีกโบราณคือ ฮิปโปเครติส ก็ยกย่องว่ากระเทียมคือสมุนไพรที่ให้ประโยชน์ทางยาสูงสุดชนิดหนึ่ง เช่น ต่อต้านการเกิดเซลล์มะเร็ง ต้านการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสบางชนิด ที่สำคัญคือ ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลและไขมันชนิดไม่ดีที่ร่างกายไม่ต้องการ จึงแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบตันกินกระเทียมเป็นประจำ
ในกระเทียมสด 1 กลีบประกอบด้วย น้ำ 64.3% โปรตีน 7.9% ไขมัน 0.6% คาร์โบไฮเดรต 16.3% ให้พลังงานทั้งหมด 98 กิโลแคลอรี
สารออกฤทธิ์สำคัญในกระเทียม
ไดซัลไฟด์ ช่วยควบคุมระดับโคเลสเตอรอลและไขมันในเลือด
อัลลิซิน ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและลดอาการอักเสบ
อัลลิอิน มีคุณสมบัติเป็นสารปฏิชีวนะ
เซลิเนียม เป็นสารแอนติออกซิแดนท์ ควบคุมการทำงานของร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติ
กำมะถัน ป้องกันโรคผิวหนังหลายชนิด บำรุงข้อต่อและกล้ามเนื้อ
คุณสมบัติและคุณประโยชน์ของกระเทียม
1. ด้านระบบย่อยอาหาร
กระเทียมช่วยเพิ่มความอยากอาหารและเพิ่มความสามารถในการย่อยอาหารของร่างกาย กระเทียมสดช่วยกระตุ้นน้ำย่อยในกระเพาะอาหารให้หลั่งออกมาย่อยอาหารในปริมาณมากขึ้น และเสริมการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยย่อยสารอาหารจำพวกโปรตีน เช่น โปรตีนจากเนื้อสัตว์ รวมทั้งช่วยเสริมระดับการหลั่งของกรดไฮโดรคลอลิก ซึ่งมีหน้าที่ช่วยย่อยอาหารจำพวกโปรตีนในกระเพาะโดยเฉพาะ นอกจากนี้ กระเทียมยังอุดมไปด้วยใยอาหาร วิตามินบี 1 วิตามินซี และมีกลิ่นเฉพาะตัว ซึ่งช่วยเพิ่มความอยากอาหารสำหรับผู้ที่ไม่เจริญอาหารอีกด้วย
2. ฤทธิ์ในการปกป้องการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดทั่วไป
กระเทียมสามารถช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลและไขมันชนิดไม่ดีที่ร่างกายไม่ต้องการคือ LDL (Low Density Lipoprotein) ในกระแสเลือด และช่วยเพิ่มปริมาณไขมันชนิดดีคือ HDL (High Density Lipoprotein) ในกระแสเลือด เพื่อใช้ในการเก็บโคเลสเตอรอลที่ตกค้างตามส่วนต่างๆ ของร่างกายไปทำลายที่ตับ
3. ฤทธิ์ในการต่อต้านการเกิดเซลล์มะเร็ง
กระเทียมออกฤทธิ์ในการต่อต้านการเกิดเซลล์มะเร็ง โดยไปกดการแบ่งตัวและการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในอวัยวะต่างๆ สารสกัดจากกระเทียมสามารถลดพิษที่เกิดจากผลข้างเคียงเนื่องจากการใช้ยาต้านมะเร็ง เช่น ยาไซโคฟอสฟาไมด์ ซึ่งเป็นยาเคมีบำบัดชนิดหนึ่งที่ใช้ในการต่อต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในทางการแพทย์
4. กระเทียมช่วยเสริมการทำงานของอวัยวะต่างๆ
เมื่อคุณรับประทานกระเทียมสด สารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ไดอัลริลซัลไฟด์จากกระเทียมจะระเหยออกมา เมื่อสูดไอระเหยนี้เข้าสู่ปอดสามารถออกฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียอย่างอ่อน และช่วยลดการอักเสบในเนื้อเยื่อต่างๆ นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์ผ่านไปยังกระเพาะอาหารเพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่มาหล่อเลี้ยงกระเพาะอาหาร ทำให้ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อเนื่องจากอาหารไม่ย่อยได้อีกด้วย
5. ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
กระเทียมออกฤทธิ์ต้านการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสบางชนิด นอกจากนี้ การบริโภคกระเทียมยังมีส่วนช่วยป้องกันโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ได้
การผสมผสานของกระเทียม ลิโคริซ (ชะเอม) พาร์สลีย์ และเปปเปอร์มินท์อย่างลงตัว
ลิโคริซหรือชะเอม เป็นสมุนไพรที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเช่นเดียวกับกระเทียม ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์คือ ลำต้นที่อยู่ใต้ดิน (ไรโซม) และราก ประกอบด้วยสารที่มีชื่อว่า “ไกลเซอร์ไรซิน” ซึ่งให้รสหวานมากกว่าน้ำตาล 50 เท่า ชะเอมช่วยขับเสมหะ ช่วยดับกระหาย ช่วยกลบรสชาติที่ไม่ดีของยาบางชนิด และยังช่วยลดอาการระคายเคืองของเยื่อบุกระเพาะอาหารอันเกิดจากสารก่อการระคายเคืองบางชนิด
สารสกัดเข้มข้นจากพาร์สลีย์และวอเตอร์เครส ให้เส้นใยและสารต้านออกซิเดชันจากพืช
เปปเปอร์มินท์หรือสะระแหน่ มีสรรพคุณช่วยกลบกลิ่นของกระเทียมได้เป็นอย่างดี
กระเทียมเหมาะสำหรับใครบ้าง
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบตัน
ผู้ที่ต้องการเสริมคุณค่าของไฟโตนิวเทรียนท์ในกระเทียมแก่ร่างกาย
ข้อควรระวังในการรับประทานกระเทียม
หากรับประทานมากเกินไปอาจพบอาการเช่น คลื่นไส้อาเจียน โลหิตจาง น้ำหนักลด ควรหยุดการรับประทานสักระยะ
19 พ.ค. 2564
27 มี.ค. 2557
19 พ.ค. 2564
27 มี.ค. 2557